จากเหตุวินาศภัย ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยในรัฐอุตตราขัณฑ์ ของประเทศอินเดีย แตกหักถล่มใส่เขื่อนริชิกังกา ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำพังยับ ก่อนจะเกิดน้ำท่วมฉลับพลันซัดพื้นที่โดยรอบเสียหายอย่างรุนแรง โดยคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้กว่า 100 ราย
จากการศึกษาของศูนย์นานาชาติเพื่อการพัฒนาพื้นที่ภูเขาแบบบูรณาการ (ICIMOD) พบว่าในปี 2000 ธารน้ำแข็งหิมาลัยละลายเร็วขึ้น 2 เท่า หรือราว 50 เซนติเมตรต่อปี ขณะที่ในระหว่างปี 1975-2000 ธารน้ำแข็งหิมาลัยละลาย ปีละ 25 เซนติเมตร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ล้วนแต่เป็นฝีมือของมนุษย์ทั้งสิ้น นอกจากนี้จากข้อมูลยังพบว่า ธารน้ำแข็งหิมาลัยมีแนวโน้มละลายทั้งหมดภายในปี 2100 และจะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นราว 1.5 เมตร
ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ จะส่งผลทำให้ เมืองหลวงของประเทศไทย อย่าง กรุงเทพมหานคร เกิดน้ำท่วมใหญ่ และกลายสภาพเป็นเมืองบาดาลอย่างแน่นอน โดยขณะนี้กรุงเทพฯ จมลงปีละ 1-2 เซนติเมตรอยู่แล้ว อีกทั้งน้ำทะเลในอ่าวไทยยังสูงขึ้นถึงปีละ 4 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก อีกทั้งภาวะโลกร้อนยังเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ตอนนี้มีแนวโน้มว่าอุณหภูมิของโลกกำลังจะสูงขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งหมายความว่าอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นจะเป็นตัวเร่งให้ธารน้ำแข็งหิมาลัย (พื้นที่ ประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตร) ละลายเร็วขึ้น
ขอบคุณ ข้อมูล : Tejasvi Surya , National Geographic Thailand