Sauna & Steam with thai herb

0
2115

Sauna & Steam with thai herb

 

 

เทรนด์การดูแลสุขภาพด้วยการอบสมุนไพรไทย ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่คู่วิถีไทยมาช้านาน ปัจจุบันถูกพัฒนาให้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีดูแลสุขภาพและความงาม ที่สาวๆ สายเฮลท์ตี้ไม่ควรพลาด

           

การอบสมุนไพร คือ การอบตัวด้วยไอน้ำที่ได้จากการต้มสมุนไพรหลายชนิดรวมกัน ถือเป็นการบำบัดรักษาสุขภาพโดยการใช้ความร้อน ช่วยขับสารพิษให้ออกมาทางเหงื่อ ในสมัยโบราณการ เรียกว่า “การอยู่ไฟ” ใช้สำหรับผู้หญิงหลังคลอด โดยการอบสมุนไพรนี้มี 2 แบบ ได้แก่

  1. การอบแห้ง (Sauna) เป็นวิธีการอบตัวแบบดั้งเดิม มีที่มาจากการอยู่ไฟในสมัยโบราณของหญิงหลังคลอด ด้วยการขึ้นไปนอนบนแคร่ที่มีการก่อกองฟืนไว้ด้านล่าง เป็นการเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกาย ซึ่งในปัจจุบันถูกพัฒนาเป็นห้องอบตัวแบบแห้ง
  2. การอบเปียก (Steam) เป็นวิธีการอบตัวด้วยไอน้ำ ที่นำสมุนไพรหลากหลายชนิดมาใส่ลงไปในหม้อต้ม สมัยโบราณใช้ผ้าครอบสุ่มไก่ทำเป็นกระโจมแล้วเข้าไปนั่ง มีหม้อต้มสมุนไพรอยู่ด้านใน เปิดช่องไว้เล็กน้อยเพื่อหายใจ โดยหญิงหลังคลอดก็ใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน แต่ในปัจจุบันถูกพัฒนาเป็นตู้อบ และห้องอบตัวแบบไอน้ำ มีท่อส่งไอน้ำเข้าไปด้านใน เพื่อความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

 

คุณประโยชน์

  • ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น
  • ช่วยลดความดันโลหิตได้ เพราะเส้นเลือดจะขยายตัวขึ้น
  • ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอด
  • ช่วยขับของเสียและสารพิษออกมากับเหงื่อ ช่วยชะล้างรูขุมขน
  • บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส รักษาสิว ฝ้า กระ ริ้วรอย
  • บรรเทาอาการหวัด หอบหืด
  • รักษาอาการชาตามปลายมือปลายเท้า
  • ลดไขมันส่วนเกิน
  • บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ช่วยให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า
  • ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น ด้วยการผ่อนคลายความเหนื่อยล้า

 

 

วิธีทำกระโจมอบสมุนไพรด้วยตัวเอง

หากไม่มีเวลาไปซาวน่า ฟิตเนส หรือสปา ก็สามารถอบสมุนไพรเองที่บ้านได้ เรามีวิธีทำกระโจมสำหรับอบสมุนไพรแบบง่ายๆ มาแนะนำ และยังใช้ทรีตเมนต์หมักผมไปพร้อมๆ กับการอบผิวในคราวเดียวกัน สวยตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า

  1. ใช้ผ้าห่มหรือผ้าผืนใหญ่ๆ ขึงกับโครงเหล็กอย่างง่ายๆ ผูกกับเพดาน ปล่อยชายผ้าลงมายาวถึงพื้น หรือซื้อชุดผ้ากระโจมสำเร็จรูปพร้อมโครงเหล็ก (มีขายในเว็บไซต์ทั่วไป)
  2. เตรียมหม้อไฟฟ้า หรือใช้หม้อหุงข้าวขนาดเล็ก ใส่น้ำลงไปประมาณ 2 ใน 3 ของหม้อ เพื่อใช้ต้มสมุนไพร
  3. เตรียมสมุนไพร ได้แก่ ใบมะกรูด , ใบมะขามแก่ , ใบส้มป่อย , ตะไคร้หั่นเป็นท่อนแล้วบุบพอแตก , หัวไพลหั่นเป็นแว่น , หอมแดง , พิมเสน , การบูร , ว่านนางคำ , ขมิ้น หรือซื้อชุดสมุนไพรอบตัวสำเร็จรูปจากร้านขายสมุนไพร
  4. ใส่สมุนไพรลงไปต้มในหม้อ ใช้ไฟปานกลาง เปิดฝาหม้อไว้ รอน้ำเดือดจนเกิดไอน้ำ
  5. ตรวจสอบอุณหภูมิให้พอเหมาะ โดยการทดลองเข้าไปในกระโจม หากร้อนเกินไปให้เบาไฟลง หรือนำฝาหม้อมาปิดแบบเผยอฝาไว้
  6. ใช้เก้าอี้วางครอบบนหม้อสมุนไพร จัดที่นั่งให้ดี ระวังอย่าให้ขาอยู่ใกล้หม้อร้อน ปิดผ้าลงมาแล้วเหลือช่องไว้สำหรับหายใจเล็กน้อย ใช้เวลานั่งในกระโจมประมาณ 10-15 นาที
  7. หลังออกมาจากกระโจมแล้ว ให้นั่งพักสักครู่เพื่อให้ร่างกายปรับอุณหภูมิ และน้ำสมุนไพรในหม้อเย็นลงหรือแค่พออุ่นๆ แล้วจึงอาบน้ำสระผมด้วยน้ำสมุนไพรที่เหลือ

 

ข้อควรระวัง

  1. ควรระมัดระวังน้ำสมุนไพรไม่ให้น้ำเดือดแรงมากจนล้นออกมานอกหม้อ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ หากหม้อที่ใช้สามารถปรับความร้อนได้ ควรใช้ความร้อนปานกลาง หากหม้อปรับความร้อนไม่ได้ให้ใส่น้ำครึ่งหม้อ หรือเปิดฝาแค่เล็กน้อย
  2. ระมัดระวังในส่วนของการต่อปลั๊กไฟ และอุปกรณ์ต่อพ่วง
  3. การสูดดมกลิ่นของสมุนไพรนั้นมีประโยชน์ต่อระบบทางเดินหายใจ แต่ควรมีช่องสำหรับหายใจหรือสูดดมอากาศด้านนอกบ้าง
  4. หากรู้สึกวิงเวียนศีรษะควรออกจากกระโจมเพื่อนั่งพัก
  5. ไม่ควรอาบน้ำทันทีที่ออกจากกระโจม
  6. ไม่ควรอยู่ในกระโจมนานเกินกว่า 15 นาที เพราะร่างกายจะได้รับความร้อนมากเกินไป อาจเกิดผลเสียต่อร่างกาย
  7. ห้ามอบสมุนไพรขณะป่วยเป็นไข้ มีประจำเดือน หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคปอด โรคลมบ้าหมู ท้องเสียรุนแรง ร่างกายอ่อนเพลีย หรือมีบาดแผล

 

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.oknation.nationtv.tv , www.goodlifeupdate.com

 

 

สั่งจองนิตยสาร Howe โดยไม่ต้องรอหาตามแผงสั่งได้ที่
Line : Howemagazine
Fanpage : Howemagazine
รายละเอียดการสั่ง (คลิ๊ก)

 อ่านนิตยสาร Howe Magazine ออนไลน์ได้ที่

Ookbee-Logo

LOGO-MEB-2017

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.