ตามรอย “กาหลมหรทึก” ตามหา 2 สถานที่ ณ จุดเกิดเหตุ

0
1062

ตามรอย “กาหลมหรทึก” ตามหา 2 สถานที่ ณ จุดเกิดเหตุ

ละคร “กาหลมหรทึก” (ช่องวัน) ไม่เพียงเนื้อหาจะเข้มข้นและชวนตามติดทุกฉากทุกตอน ทว่า สถานที่ที่ปรากฏในละครอย่าง “วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร” กับ “สามแพร่ง” ซึ่งผู้เขียน “ปราบต์” (ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์) เจ้าของฉายา “แดน บราวน์ แห่งสยามประเทศ” นำมาผูกเรื่องราวและเชื่อมโยงสู่ตัวละครสำคัญนั้น ยังเป็นที่สนใจใคร่รู้ให้คอละคร ตลอดจนหนอนหนังสือ ร่วมกันออกตามหาปริศนาที่ซ่อนเร้นอยู่ในคดีฆาตกรรมอันเลื่อนลั่น

 

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (จุดเกิดเหตุอยู่ที่บ้านเด็กหญิงวาด เหยื่อฆาตกรรมเลือดเย็น)

เรียกสั้นๆ “วัดระฆัง” บ้างก็เรียก “วัดหลวงพ่อโต” เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ “วัดบางว้าใหญ่” (บางหว้าใหญ่) ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “วัดระฆังโฆสิตาราม” เป็น “วัดราชคัณฑิยาราม” (คัณฑิ แปลว่า ระฆัง) แต่ผู้คนก็ยังคงเรียกว่าวัดระฆังจวบปัจจุบัน เคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี ภายในประกอบด้วยโบราณสถานทรงคุณค่าหลายจุด

 

 

 

“หอพระไตรปิฎก” สวยงามยิ่งและโดดเด่นด้านงานสถาปัตยกรรม เรือน 3 หลังแฝด หอด้านใต้ลักษณะเป็นหอนอน หอกลางเป็นห้องโถง หอด้านเหนือเป็นห้องรับแขก ชายคาเป็นรูปเทพพนมเรียงราย  บานประตูด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางด้านตะวันออกแกะเป็นลายกนกวายุภักษ์ บานซุ้มประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกดอกไม้ ภายนอกติดคันทวย ส่วนตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ 2 ตู้

“พระอุโบสถ” ออกแบบเป็นทรงรัชกาลที่ 1 งดงามด้วยหลังคาลด 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวยสลักเสลา บริเวณมุขด้านหน้าและหลังทำปีกนกคลุมมุขอยู่ในระยะไขราหน้าจั่ว ตอนใต้จั่ว หรือหน้าบัน ที่จำหลักลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ประดับลายกนกปิดทอง ขณะที่ด้านในเขียนภาพทวารบาลยืน ฝาผนังภายในพระอุโบสถโดยรอบเป็นงานจิตรกรรมวิจิตร เช่น ภาพพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ก่อนเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านหลังพระประธานเป็นภาพพระมาลัยขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านล่างเป็นภาพสัตว์นรกในอาการต่างๆ นอกนั้นเป็นภาพเทพชุมนุม ภาพทศชาติ สะท้อนถึงลวดลายเชิงศิลป์ของช่างโบราณ “พระวรรณวาดวิจิตร” (ทอง จารุวิจิตร) จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6

ย่าน 3 แพร่ง (จุดเกิดเหตุอยู่ที่ร้านขายขนมฝรั่งกุฎีจีนตระกูลเนื่องนวล คดีนายผดุงศักดิ์)

 

3 แพร่ง ประกอบด้วย “แพร่งสรรพศาสตร์” “แพร่งนรา” และ “แพร่งภูธร” ถูกยกให้เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังเปี่ยมเสน่ห์ตราบถึงวันนี้ โดยเฉพาะสภาพบ้านเรือนลักษณะตึกแถว 2 ชั้นทรงชิโน-โปรตุกีส กรอบหน้าต่างและประตูบานเฟี้ยมทาสีเขียว แถมชื่อแพร่งก็มาจากพระนามของ 3 พระเจ้าบรมวงศ์ ได้แก่ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์“ แพร่งนรา ขณะที่แพร่งภูธร มาจากพระนาม “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์” ส่วนแพร่งสรรพศาสตร์ เป็นพระนาม “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ” (เดิมเขียนว่า แพร่งสรรพสาตร ต่อมาเพี้ยนเป็น สรรพศาสตร์)

 

 

ปัจจุบันทั้ง 3 แพร่ง เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งรวมของกินแสนโอชะ ละลานตาและยั่วย่อยด้วยร้านรวงที่สืบสานความอร่อยจากรุ่นปู่รุ่นย่าสู่คนรุ่นลูกรุ่นหลาน แวะมาเมื่อไหร่ก็จะได้อิ่มท้องกลับไปเมื่อนั้น 24 ชั่วโมงมิเคยหลับใหล บางร้านเข้าขั้นของกินประจำย่าน ติดอันดับความอร่อยของกรุงเทพฯ เช่น ขนมไข่หงส์แม่เยาว์, ไอศกรีมกะทิสดนัฐพร, ข้าวมันไก่เจ๊เย็น, ราดหน้ายอดผักสูตร 40 ปี, ลูกชิ้นแพร่งนรา, อ้วนเย็นตาโฟ, ปาท่องโก๋เสวย, บัวลอยเกตุแก้ว, ข้าวเหนียวมูน ก. พานิช, โชติจิตร  เป็นต้น

 

 

สั่งจองนิตยสาร Howe โดยไม่ต้องรอหาตามแผงสั่งได้ที่
Line : Howemagazine
Fanpage : Howemagazine
รายละเอียดการสั่ง (คลิ๊ก)

 อ่านนิตยสาร Howe Magazine ออนไลน์ได้ที่

Ookbee-Logo

LOGO-MEB-2017

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.