เที่ยว “วัดไชยวัฒนาราม” มโนเป็น “พี่หมื่นเดช” กับ “แม่หญิงการะเกด” เก๋จะตาย!!!
คนจำนวนไม่น้อยคงเคยไปเที่ยว “วัดไชยวัฒนาราม” หลายคราแล้วละ ใช่เปล่า? (เราเชื่อเช่นนั้น) ถ้ายังไม่เคยไป หรือไม่รู้จัก (เลย) ตอนนี้ก็น่าจะอ๋อบ้างแหละจากละคร “บุพเพสันนิวาส” ฮอตฮิตติดลมบน ที่ปลุกกระแสการท่องเที่ยวให้บูมสุดๆ กับทริปตามรอย “พี่หมื่นเดช” กับ “แม่หญิงการะเกด” ยังสถานที่ต่างๆ หนึ่งนั้นคือ “วัดไชยวัฒนาราม” ที่ปรากฏในละครและกลายเป็นจุดหมายปลายทางของออเจ้าทั่วพระนคร
การเดินทางไป “วัดไชยวัฒนาราม” ง่ายนิดเดียว ถ้าตั้งต้นที่กรุงเทพฯ รถยนต์ส่วนตัว ใช้ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (อุดรรัถยา) มุ่งหน้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 347 ประมาณ 20 กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่สี่แยกวรเชษฐ์ ตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร เตรียมชิดซ้ายเพื่อกลับรถใต้สะพาน ขับต่อไปอีก 300 เมตร เลี้ยวซ้ายทางเข้าวัด 700 เมตร วัดจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ หรือจะใช้รถตู้ก็มีบริการที่สถานีขนส่งหมอชิต/ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต อีกวิธีที่สะดวกคือ รถไฟ ขึ้นที่สถานีหัวลำโพงลงสถานีอยุธยา จากนั้นต่อรถตุ๊กๆ ในตลาดเจ้าพรหมไปวัดไชยวัฒนาราม
ไปถึง “วัดไชยวัฒนาราม” แล้วจะมโนตัวเองเป็น “พี่หมื่นเดช” กับ “แม่หญิงการะเกด” ก็ไม่ว่ากัน เอาที่สบายใจ (555) แต่ที่แน่ๆ การจะเที่ยว “วัดไชยวัฒนาราม” ให้อินและฟินไปสามโลก อย่าลืมข้อมูลประวัติศาสตร์เบื้องต้น แบบที่ “เกศสุรางค์” กับ “เรืองฤทธิ์” ได้รำ่เรียนมา รับรองว่าเที่ยว “วัดไชยวัฒนาราม” หนนี้สนุกชัวร์
เดิมทีชื่อ “วัดไชยวัฒนาราม” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือกรุงละแวก (พนมเปญ) ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไชยวัฒนาราม” ซึ่งคำว่า “ไชย” น่าจะมาจาก “ไชยโย” เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์ผู้สร้างวัดแห่งนี้ เมื่อพ.ศ. 2173 นอกจากนี้พระเจ้าปราสาททองยังอุทิศวัดให้แก่พระราชมารดาที่สิ้นพระชนม์ก่อนพระเจ้าปราสาททองจะเสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์
ตั้งเด่นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง ณ ตำบลบ้านป้อม อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา เคยใช้จัดพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ รวมไปถึงเป็นที่ฝังพระศพเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาลย์
สถาปัตยกรรมการก่อสร้างของวัด มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนวัดอื่นๆ ในอยุธยา เพราะบางส่วนรับอิทธิพลมาจากศิลปะขอม (จำลองมาจากปราสาทนครวัด) งดงามด้วยปรางค์ประธานและปรางค์มุมอยู่บนฐานเดียวกัน รายล้อมด้วยปรางค์บริวาร 4 องค์
ภายในวัดมีจุดสำคัญที่ห้ามพลาดไปชมหลายจุด เป็นต้นว่า พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ ถือเป็นปรางค์ประธานของวัด ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะปรางค์ทรงจตุรมุข มีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ยอดองค์ปรางค์ ทำเป็นรัดประคดซ้อนกัน 7 ชั้น บนสุดทรงดอกบัวตูม รูปแบบคล้ายกับปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้น
อีกจุดคือระเบียงคต หรือส่วนที่เชื่อมเมรุทั้ง 4 ทิศเข้าด้วยกัน ภายในระเบียงคตประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทองจำนวน 120 องค์ เหมือนเป็นกำแพงเขตศักดิ์สิทธิ์ที่สะท้อนถึงความเรืองรองและมั่งคั่งของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันเหลือพระพุทธรูปเพียง 2 องค์ที่ยังมีเศียร นอกนั้นเป็นพระพุทธรูปเศียรขาด
วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ กระทั่งวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ถูกยกให้เป็นหนึ่งในโบราณสถานของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ฐานะมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
ภาพ : Youtube, newtv, mthai, DoiStory, Pantip