มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย จัด “พิธีถวายขันดอกแม่ฟ้าหลวง” เพื่อถวายสักการะและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในวาระครบ 24 ปีแห่งการสวรรคตของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “แม่ฟ้าหลวง” โดยมีหน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชนร่วมถวายสักการะ ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2562
งานเริ่มขึ้นด้วยพิธีบำเพ็ญกุศลน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ ศาลาหน้าลานโคลเวอร์ ภายในอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จากนั้น ประจญ ปรัชญ์สกุลผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และ คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยากรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯประธานในพิธี ได้นำข้าราชการและประชาชนตลอดจนเยาวชนที่ผ่านการพัฒนาจากโครงการในไร่แม่ฟ้าหลวง พร้อมใจกันจัดขบวนตุงและขันดอก (พุ่มดอกไม้อันเป็นเครื่องสักการะแบบล้านนา) ร่วมถวายสักการะและน้อมรำลึกถึง สมเด็จย่าณ ลานหน้าพระรูปปั้นสำริดของพระองค์ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) จังหวัดเชียงราย
“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “สมเด็จย่า” ทรงประกอบพระราชกรณียกิจช่วยเหลือปวงชนชาวไทยมากมายหลายด้าน และจากการที่ทรงพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร และพระราชทานความช่วยเหลือโดยเสด็จด้วยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เหมือนเสด็จจากจากฟากฟ้ามาปัดเป่าทุกข์ให้ประชาชน ทำให้ชาวไทยภูเขาพร้อมใจกันกล่าวขานพระนาม “แม่ฟ้าหลวง” ด้วยความเคารพรักจวบจนพระองค์สวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538
ต่อมาทุกวันที่ 18 กรกฎาคมของทุกปี “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์” จึงได้กำหนดจัด “ถวายขันดอกแม่ฟ้าหลวง” เป็นการถวายความเคารพอย่างสูงสุดตามประเพณีและความเชื่อแบบล้านนา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จย่า” โดยจัดขึ้นที่“อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง” ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระรูปปั้น “สมเด็จย่า” แล้ว สถานที่แห่งนี้ยังถูกพัฒนาจากการเป็นที่ดินหัวไร่ปลายนาธรรมดาผืนหนึ่งบริเวณชานเมืองของเชียงราย มีพื้นที่ 150 ไร่ มาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานเริ่มต้นชีวิตใหม่ของชาวเขาไทย และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของเชียงราย
โดยในอดีตเคยเป็นสำนักงานของมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยฯ (ชื่อเดิมของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ) และยังเป็นสถานที่ “ปลูกคน” โดยในระหว่างปี 2522 – 2528 สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ให้ความช่วยเหลือจัดทำโครงการผู้นำเยาวชนชาวเขา (Hill Tribe Youth Leadership) โดยสนับสนุนด้านสถานที่พักสำหรับเยาวชนชาวเขาจากถิ่นห่างไกลให้ได้รับการศึกษา ทั้งวิชาพื้นฐานจากโรงเรียนในเมือง และทักษะการใช้ชีวิต โดยนำเยาวชนเหล่านั้นมาอยู่ร่วมกันในลักษณะครอบครัว ช่วยกันทำงาน ปลูกผัก ทำอาหารด้วยกัน เพื่อฝึกการพึ่งพาตัวเอง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานให้มีความเสียสละ ขยัน และเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมต่อชุมชนในอนาคต
“แม่ฟ้าหลวง” ไม่เคยมีพระกระแสรับสั่งให้ปฏิบัติเช่นใด แต่ทรงสอนด้วยวิธีอันแยบยลด้วยพระจริวัตรของพระองค์เอง การที่ทรงงานอยู่เสมอไม่หยุดหย่อน การที่ทรงมีพระเมตตาเผื่อแผ่ผู้ยากไร้ การที่ทรงประหยัดและการที่สนพระราชหฤทัยช่วยเหลือด้านการศึกษาสาธารณสุข คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม เป็นเข็มทิศชี้นำการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรม เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมสืบสานพระราชปณิธาน ตลอดจนถวายเป็นพระราชกุศลแด่ “สมเด็จย่า” อาทิ การรับบริจาคโลหิต ณ บริเวณอาคารกองรักษาการณ์ถวายความปลอดภัย โครงการพัฒนาดอยตุงฯ และ กิจกรรมฟื้นฟูและปรับสภาพป่า(ปลูกป่าเสริมพื้นที่ไฟไหม้ จำนวน 1,874 ไร่) ณ บริเวณบ้านแม่เปิน หมู่ที่ 13 โครงการพัฒนาดอยตุงฯ อีกด้วย