กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ แบรนด์ WISHARAWISH (วิชระวิชญ์) เล็งเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยในงานหัตถกรรมการทอผ้าของคนในชุมชน ที่เป็นการอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ จึงได้ดำเนินงาน โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2562 (Taproot Thai Textile)
พร้อมจัดงานแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้และชุมชนทางวัฒนธรรม และเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวผ่านมิติผ้าไทย รวมไปถึงส่งเสริมศิลปินพื้นบ้านและเครือข่ายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการทอผ้าไทย ได้เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมบนรากฐานของวัฒนธรรมในชุมชนให้อยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน
อีกทั้งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมเรื่องผ้าไทยมาสร้างคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากการพัฒนาชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้าให้เป็นต้นแบบในเรื่องการทอผ้า แล้วยังมุ่งเน้นที่จะสร้างสรรค์ผลักดันนักออกแบบและผลงานเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในวงการแฟชั่นทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับเกียรติจากเหล่าบรรดาแขกผู้มีเกียรติในแวดวงแฟชั่นมาร่วมงาน อาทิ ศิริชัย ทหรานนท์, กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์, พัชทรี ภักดีบุตร, ณัฐ ประกอบสันติสุข, เอก ทองประเสริฐ, กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ และภัทรสุดา อนุมานราชธน เป็นต้น
“จากแดนไกล” คอลเลกชันผ้าไทยร่วมสมัยล่าสุดของแบรนด์ “WISHARAWISH” ออกแบบรังสรรค์ผลงานโดย วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ ซึ่งคอลเลกชันนี้ผ่านการออกแบบที่เน้นความเรียบง่ายแต่พิถีพิถันในรายละเอียดของเทคนิค หยิบยกเอาความงามและความละเมียดละไมของผืนผ้าไทยทอมือทั้งหลายเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งวัสดุหลักก็คือบรรดาผืนผ้าที่วิชระวิชญ์ได้เลือกใช้ถึง 7 ชนิด จากผู้ประกอบการท้องถิ่น 7 ท่าน จากมุมต่างๆ ของประเทศไทยที่เขาได้เดินทางไปร่วมงาน และได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ร่วมกันออกมานับครั้งไม่ถ้วนตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาผ่านการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน ในการสนับสนุนและพัฒนาผ้าไทย
ทั้งนี้การดำเนินงานโครงการฯ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ร่วมมือกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาการบริหารและพัฒนาในเรื่องของผ้าไทยพื้นถิ่นที่สืบสานภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการสรุปข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผลพิจารณาคัดเลือกและลงพื้นที่ชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้า จำนวน 7 ชุมชน ใน 5 จังหวัดที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องการทอผ้า การออกแบบลายผ้า เส้นใยผ้า ตลอดจนวัสดุต่างๆ ที่นำมาใช้ทอผ้า
เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การต่อยอดที่เป็นประโยชน์ พัฒนาศักยภาพต่อยอดทางภูมิปัญญา ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ผ้าขาวม้า อิมปานิ จังหวัดราชบุรี, ผ้าฝ้ายทอมือ คอตตอน ฟาร์ม จังหวัดเชียงใหม่, บาติก เดอ นารา จังหวัดปัตตานี, ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จุฑาทิพย์ จังหวัดขอนแก่น, ไหมแต้มหมี่ กลุ่มสตรีทอผ้ามัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น, ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข จังหวัดขอนแก่น และผ้าไหมยีนส์ เรือนไหมใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์