One Day Trip “รู้จักบางรัก…หลงรักเจริญกรุง”

0
1977

เป็นอีกหนึ่งทริปที่อยากจะชวนทุกคน มาร่วมสัมผัสเรื่องราววิถีถิ่นเจริญกรุง-บางรัก บนหนึ่งในถนนสายแรกแห่งสยามประเทศ ถนนสี่ ส. และสำรวจแหล่งห้างฝรั่ง ถิ่นแขก สาแหรกจีน ให้กระจ่างใจว่าทำไมเราถึงอยู่ร่วมกันมาได้อย่างดีงาม

อีกทั้งยังได้เรียนรู้ มิติทางวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นในยุครัตนโกสินทร์รุ่งโรจน์ การเปิดประเทศจากสนธิสัญญาเบาริงห์ ทำให้ต่างชนชาติและศาสนาเข้ามาร่วมผลักดันให้เศรษฐกิจสยามรุดหน้า สังคมเจริญรุ่งเรือง เกิดแหล่งศาสนสถานที่สวยงามและผสานความเชื่อความศรัทธาจีน พุทธ มุสลิม ผสานกันจนกลายเป็นมนต์เสน่ห์ในย่านบางรัก

เริ่มต้นทริปกันที่ ศาลเจ้าบางรัก หรือ ศาลเจ้าเจียวเองเบียว ที่เก่าแก่กว่า 150 ปี ศาลเจ้าไหหลำที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงโศกนาฏกรรมนักเดินทางชาวจีน 108 คนผู้ล่องเรือสำเภาจะมาค้าขายที่บางรัก แต่โดนฆาตกรรมที่เวียดนามก่อนเพราะเกิดการเข้าใจผิดคิดว่าพวกเขาเป็นโจรสลัด ร่วมสักการะเทพเจ้า 108 พี่น้อง เจ้าแม่ทับทิม ไฉ่ซิงเอี้ยะ บู๊นท๋ากง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวจีน พ่อค้าแม่ขายในละแวกนี้ และเหล่านักเดินทางที่มาขอพรให้เดินทางโดยปลอดภัย

จากนั้นมากันต่อที่วัดสวนพลู วัดชุมชนที่มีความเป็นเอกลักษณ์และสีสันไม่ซ้ำใคร ชมอุโบสถงานปูนปั้นประดับกระจกสวยงามแปลกตาและยลเสน่ห์กุฎิของพระสงฆ์ที่มีความโดดเด่นด้วยลวดายไม้ฉลุเรียกว่า “หมู่กุฎิขนมปังขิง” จนได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นมรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทยจากสมาคมสถาปนิกสยามเมื่อปี พ.ศ.2545

พอออกจากวัดสวนพลู เราได้มาสัมผัสเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบางรักที่เกิดขึ้นได้ เพราะวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของอาจารย์วราพร สุรวดีเจ้าของผืนดิน ผู้บริจาคทรัพย์สินทั้งหมดให้กรุงเทพมหานครและอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้จวบกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ด้วยวัย 82 ปี โดยท่านได้มอบบ้านและทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้รับมรดกจากนางสอาง สุรวดี (ตันบุญเล็ก) ผู้เป็นคุณแม่ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่คนรุ่นหลังจะได้ใช้ศึกษาเรื่องราวชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลางในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณปี พ.ศ. 2480 ถึง พ.ศ. 2500)โดยของที่นำมาจัดแสดงส่วนใหญ่ เป็นของที่เคยใช้งานจริงของอาจารย์และครอบครัว

พอตกบ่ายเรามุ่งสู่ ศุลกสถานเพื่อเรียนรู้ประวัติด่านศุลกากรที่ถือเป็นประตูสุดแดนพระนครใต้ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้สร้างขึ้น ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตบางรัก  เพื่อเรียกเก็บภาษีจากพ่อค้าวาณิชที่เดินทางเข้าออกประเทศ เพราะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สยามเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดไปเป็นการค้าเสรี โดยเมื่อเรือสินค้าเข้ามาจากปากแม่น้ำ ก็ต้องผ่านจุดตั้งด่านเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่เรียกว่า “ภาษีร้อยชักสาม”

แล้วเดินเท้าสบายๆไป สุสานมัสยิดฮารูณ ที่อยู่ใกล้ๆ สัมผัสสัจธรรมอันจริงแท้ที่ไม่อาจปฏิเสธ จากเรื่องราวของบุคคลสำคัญในสุสาน อาทิ ท่านต่วน สุวรรณศาสตร์ อดีตจุฬาราชมนตรี และเรื่องราวของพี่น้องมุสลิมที่ร่วมรบในสงครามป้องกันสยามประเทศ เดินข้ามถนนไปชม มัสยิดฮารูณ ศูนย์รวมใจของชาวมุสลิมย่านบางรักพร้อมฟังเรื่องราวศาสนสถานกลางของชุมชนที่ยั่งยืนมากว่าร้อยปี เพื่อความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่บางเรื่องราวเราก็อาจยังไม่รู้

สั่งจองนิตยสาร Howe โดยไม่ต้องรอหาตามแผงสั่งได้ที่
Line : Howemagazine
  Fanpage : Howemagazine
รายละเอียดการสั่ง (คลิ๊ก)

  อ่านนิตยสาร Howe Magazine ออนไลน์ได้ที่

Ookbee-Logo
LOGO-MEB-2017
Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.